• ปรับขนาด
    ตัวอักษร
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
สัญลักษณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
7 พฤษภาคม 2565

สัญลักษณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม . ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลกต่างตระหนักว่า ปัจจัยต่างๆ ทั้ง ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยีใหม่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะขับเคลื่อนความต้องการพลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าย่อมไม่สามารถที่จะเลี่ยงบทบาทในการแก้ปัญหานี้ได้ . ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2535 โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งสัญลักษณ์ ENERGY STAR ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าไอที ที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ตราสัญลักษณ์นี้ เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นมาให้ใช้กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่เป็นอันตราย หรือใช้น้อยที่สุดและสามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 20%-30% . ขณะที่ ผู้บริโภคในแถบยุโรป คุ้นเคยกับฉลากประหยัดพลังงาน หรือที่เรียกว่า E-label ดี เพราะฉลากนี้เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานมานานกว่า 20 ปี และปรับปรุงมาตรฐานของฉลากอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่นานมานี้ สหภาพยุโรปได้ปรับปรุงฉลากใหม่ทั้งหมด โดยยกเลิกฉลากประหยัดไฟที่มีรูปแบบ A+, A++, A+++ เป็นตัวอักษร A ถึง G กำหนดให้ A หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปรับรูปแบบฉลากเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ แข่งขันกันปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว . เช่นเดียวกับในประเทศไทย ปีพ.ศ. 2536 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เปิดตัว “โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งริเริ่ม ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาเป็นเครื่องมือตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพประหยัดไฟฟ้า . ฉลากดังกล่าวไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางการตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มากมาย แต่ยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของฉลาก เช่น หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน อย่างหลอดผอม หรือหลอดตะเกียบ สินค้าชนิดนี้ไม่เพียงแต่ จูงใจผู้ซื้อด้วยการระบุตัวเลขค่าพลังงานจากหลอดไฟแบบเก่าและแบบใหม่ให้เห็นทั้งในแง่ความคุ้มค่าและค่าไฟที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่ยังทำการตลาดแข่งขันกันโดยระบุเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง อีกด้วย . เช่นเดียวกับ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อย่างเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะเน้นจุดขายเรื่องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเทคโนโลยีประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีการนำเสนอเครื่องปรับอากาศที่ใช้น้ำยาทำความเย็นชนิดใหม่ที่เรียกว่า R410a ซึ่งไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก แม้จะน้ำยาดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อเครื่องสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศหลายรายก็ยังเดินหน้าเน้นจุดขายด้านนี้ เพราะเชื่อว่าเครื่องปรับอากาศที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลกจะสามารถจูงใจผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมได้ . เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปไกล เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบัน จุดขายหรือคุณสมบัติที่เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิดเลือกที่จะกล่าวถึงก่อนเป็นประเด็นเรกๆ คือ มีความโดดเด่นด้าน ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือใส่ใจเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้บริโภคเองควรตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง https://greenerideal.com/.../top-5-must-have-green.../ https://ec.europa.eu/comm.../presscorner/detail/en/ip_21_818 http://labelno5.egat.co.th/new58/?page_id=821 https://positioningmag.com/10265

ที่มาของข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม